ตามติด 1 วันชีวิตทำงาน 'นักทัณฑวิทยา' ผู้ให้โอกาสคนเคยผิดพลั้ง ได้เริ่มต้นใหม่อีกครั้ง

สวัสดีจ้าชาว Dek-D.com กลับมาพบกับ A day in life สกู๊ปพิเศษที่จะพาทุกคนไป ตามติดชีวิตหนึ่งวันทำงานของอาชีพในฝันกันอีกเช่นเคย แต่ต้องบอกเลยว่าครั้งนี้พี่ส้มไม่ได้มากับอาชีพยอดฮิตติดท็อปที่วัยรุ่นส่วนใหญ่ตั้งเป้าหมาย เพราะอาชีพนี้เป็นงานของคนที่รับภาระอันยิ่งใหญ่เพื่อปกป้องสังคมให้ปลอดภัย และให้โอกาสคนเคยผิดพลั้งได้กลับตัวกลับใจได้เริ่มต้นชีวิตใหม่อีกครั้งจ้า ^^

ตามติด 1 วัน การทำงาน นักทัณฑวิทยา

ปูเรื่องมาแบบนี้ เชื่อว่าหลายคนคงพอเดาทางว่าจะได้ตามติดการทำงานของอาชีพในสายงานกระบวนการยุติธรรมอยู่แน่ๆ ... ถูกต้องค่ะ! เพราะภารกิจของเราก็คือการเกาะติดชีวิตของ 'นักทัณฑวิทยา' ผู้ใช้ความรู้ทางด้านสังคมศาสตร์ควบคุมผู้ต้องขังในเรือนจำให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลหรือคำสั่งตามกฎหมาย ด้วยการวางแผนและบังคับใช้กฎระเบียบให้ทุกชีวิตหลังกำแพงสูงอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขนั่นเอง เอาแล้ว!! ธรรมดา ซะที่ไหน เตรียมเปิดใจและเกาะไหล่กันไว้ให้แน่น เพราะเราจะบุกไปหาเขาถึงที่ ณ เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครกันเลยค่ะ GO! GO! GO!

PROFILE :

  • นายนราวิชญ์ ทัศนศร (พี่ณัฐ)
  • มัธยมศึกษา : แผนการเรียนวิทยาศาสตร์ -
    คณิตศาสตร์ โรงเรียนสตรีสมุทปราการ
  • ปริญญาตรี : สาขาวิชาการเมือง
    การปกครอง คณะรัฐศาสตร์
    มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 
  • ปริญญาโท : Master of Arts (with Merit) in Intelligence and Security Studies, Brunel University
    สหราชอาณาจักร
  • ปัจจุบัน : นักทัณฑวิทยาชำนาญการ
    เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร

'คนดี' ที่เต็มใจอยู่ในเรือนจำนานกว่านักโทษ...

ถ้าจะพูดถึงสถานที่อันดับต้นๆ ในโลกนี้ที่ไม่มีใครอยากเหยียบย่างเข้าไปก็คงหนีไม่พ้น 'คุก' หรือเรือนจำที่มีไว้จำกัดอิสรภาพของเหล่านักโทษซึ่งสังคมตีตราให้ว่าพวกเขาคือ "ผู้ร้าย" ที่อาจเรียกได้ว่าถ้าปล่อยให้พวกเขาลอยนวลต่อไปก็อาจเป็นอันตรายต่อสังคม จนเกิดภาพจำว่าคุกน่ากลัวเพราะมีคนชั่วมารวมกันนับร้อย และยิ่งกว่านั้นก็คือการจินตนาการต่อไปว่าผู้คุมที่จะเอาผู้ต้องขังให้อยู่หมัดได้จะต้องโหดร้ายทารุณน่ากลัวยิ่งกว่า...

ตามติด 1 วัน การทำงาน นักทัณฑวิทยา

แต่ทันทีที่เราได้มาพบกับพี่ณัฐ ทุกอย่างก็ดูจะกลับตาลปัตรไปหมดค่ะ เพราะบุคลิกสุขุมจนเหมือนดุใครไม่เป็น บวกกับหน้าตายิ้มแย้มรับแขกรออยู่หน้าประตูเรือนจำ ทำให้เราได้เริ่มบทสนทนาสบายๆ เกี่ยวกับชีวิตของอดีตเด็ก ม.ปลาย ผู้เคยตั้งใจว่าจะเรียนต่อด้านกฎหมาย และไม่มีอะไรมาจุดประกายให้อยากทำงานกับผู้ต้องขังแม้แต่นิดเดียว 

ตามติด 1 วัน การทำงาน นักทัณฑวิทยา

สำหรับชีวิตมหา'ลัย ของบุคคลที่ได้กล่าวถึงนี้ ได้ทำให้เขาเจอกับวิชาเรียนหนึ่งตัวที่ได้สอนว่า การกระทำผิดของคนเรา มีทั้งผิดโดยสันดานเพราะเป็นคนป่าเถื่อนโหดร้าย และผิดเพราะอารมณ์ชั่ววูบที่ใครๆ ก็อาจจะพลาดพลั้งได้ ซึ่งเปลี่ยนแปลงความคิดของเจ้าตัวไปเลยว่า คนเป็นนักโทษในคุกนั้นไม่ได้น่ารังเกียจและควรได้รับโอกาสชดเชยหรือแก้ไขความผิด และนี่ก็คือจุดสตาร์ตของเส้นทางอาชีพนักทัณฑวิทยาของพี่ณัฐ เจ้าของเรื่องราวชีวิตการเรียนสุดหักมุมนี่ที่เล่ามานี่แหละค่ะ

ตามติด 1 วัน การทำงาน นักทัณฑวิทยา

พี่ณัฐเล่าต่อว่า ช่วงกำลังจะขึ้นปี 4 สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ได้เปิดสอบชิงทุน Undergraduate Intelligence Scholarship Program ( UIS) เลยตัดสินใจลองดูแล้วปรากฏว่าสอบติด จึงมีสิทธิ์ได้รับทุนที่ระยะแรกให้ค่าเทอมจนจบ ป.ตรี พร้อมบรรจุเป็นข้าราชการทันทีหลังเรียนจบ โดยครั้งหนึ่งพี่ณัฐเคยปฏิบัติหน้าที่นักทัณฑวิทยาใน 'คุกซูเปอร์แม็กซ์' แดนความมั่นคงสูงสุดแห่งเรือนจำกลางเขาบิน จ.ราชบุรี ที่ขึ้นชื่อเรื่องถอนรากถอนโคนเครือข่ายผู้ร้ายคดียาเสพติด ซึ่งมีการปิดประตูห้องขังแน่นหนาด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ตัดระบบสัญญาณโทรศัพท์ และต้องมอนิเตอร์คุมเข้มพฤติกรรมผู้ต้องขังตลอด 24 ชั่วโมง จนผู้คุมเองก็หลีกเลี่ยงบรรยากาศตึงเครียดแบบนี้ไปไม่ได้เช่นกัน แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้พี่ณัฐถอดใจไปได้...

ตามติด 1 วัน การทำงาน นักทัณฑวิทยา

เพราะหลังจากอุทิศเวลาชีวิตให้เรือนจำอย่างเต็มที่ พี่ณัฐก็ได้ค้นพบแรงบันดาลใจว่า เขาอยากศึกษาเชิงลึกถึงสาเหตุที่ทำให้คนกลุ่มนี้กลายมาเป็นอาชญากรได้ แล้วหาวิธีแก้ไขฟื้นฟูให้พวกเขากลับมาเป็นพลังสร้างสรรค์สังคมได้ ซึ่งพอดีกับช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อในการตัดสินใจรับทุนระยะที่สองบนเงื่อนไขที่ว่า ถ้าจะเรียน ป.โท ต่อ ก็ต้องกลับมาเป็นนักทัณฑวิทยาเหมือนเดิม แม้จะมีคำทัดทานจากทางบ้านเล็กน้อยด้วยความเป็นห่วงเพราะนี่คืองานเสี่ยงภัย แต่ด้วยความตั้งใจและเหตุผลที่หนักแน่นของลูกชายแล้ว คุณแม่ก็เข้าใจและไฟเขียวให้พี่ณัฐได้บินตรงไปเรียนด้านการข่าวกรองและความมั่นคง ณ สหราชอาณาจักรทันที

ตามติด 1 วัน การทำงาน นักทัณฑวิทยา

พอเรียนจบ พี่ณัฐก็ได้กลับมาทำงานต่อ แล้วได้เลื่อนขั้นมาปฏิบัติงานเป็นนักทัณฑวิทยาชำนาญการที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ซึ่งเจ้าตัวถึงกับออกปากเองเลยว่ายิ่งรับผิดชอบหน้าที่ในตำแหน่งที่สูงขึ้น ก็ยิ่งสัมผัสได้ว่าตัวเองโตเป็นผู้ใหญ่มากขึ้นตามไปด้วย เพราะต้องเจอกับงานที่ท้าทาย มีหน้าที่หลากหลายทั้งละเอียดอ่อนและเข้มงวดเชียวล่ะ ว่าแต่จะเข้มข้นขนาดไหนกันนะ? งานนี้ต้องให้พี่ณัฐพาไปดูให้เห็นกับตาซะแล้ว...

1 วัน ของอาชีพนักทัณฑวิทยา

ตามติด 1 วัน การทำงาน นักทัณฑวิทยา

8.00 - 8.30 น.

ทุกๆ วัน พี่ณัฐจะมาถึงเรือนจำก่อน 8 โมงเช้าเพื่อเตรียมพร้อมเคารพธงชาติ ก่อนจะเดินไปประจำโต๊ะเพื่อเช็กความเรียบร้อยของเอกสาร รายงานต่างๆ ให้ทราบความคืบหน้าในการดำเนินงานที่มีทั้งโครงการของตัวเองที่รับผิดชอบอยู่ และโครงการที่ฝ่ายต่างๆ ขอความร่วมมือมา แล้วจัดการอัปเดตให้เป็นปัจจุบัน เพื่อวางแผนการทำงานของตัวเองและประสานงานกับฝ่ายที่เกี่ยวข้องค่ะ

ตามติด 1 วัน การทำงาน นักทัณฑวิทยา

8.30 - 9.30 น.

ผ่านบรรยากาศเช็กเอกสารนั่งโต๊ะช่วงเช้าชิลล์ๆ ไปเพียง 20 นาที ก็อย่าเพิ่งด่วนสรุปกันนะคะว่านี่คืองานสบาย เพราะนับจากนี้เราทีมงานทุกคนหรือแม้แต่พี่ณัฐเอง จะต้องเอาโทรศัพท์มือถือ อุปกรณ์สื่อสารทุกชนิด เงินสด ฝากไว้ด้านนอกรั้วกำแพงสูง แล้วทำการแสดงตัวตนต่อเจ้าหน้าที่ผู้รักษาความปลอดภัยหน้าประตูเรือนจำที่จะให้เราได้เข้าไปเห็นการทำงานของนักทัณฑวิทยาด้านในกันค่ะ

ตามติด 1 วัน การทำงาน นักทัณฑวิทยา

ขั้นตอนนี้เรียกว่าเซฟสุดๆ เพราะเมื่อผ่านประตูเข้ามาแล้ว เรายังต้องผ่านการตรวจสอบด้วยเครื่องสแกนโลหะ และถอดรองเท้าให้เจ้าหน้าที่ข้างในเช็กว่าไม่มีสิ่งของต้องห้ามซุกซ่อนอยู่เลย พร้อมทั้งเซ็นชื่อระบุเวลาเข้า-ออกชัดเจนอีกด้วย บอกเลยว่างานนี้พี่ส้มต้องรวบรวมสมาธิอย่างมาก เพื่อจดจำรายละเอียดของบรรยากาศด้านในมาถ่ายทอดให้น้องๆ เพราะว่ามีเพียงแต่กล้องของช่างภาพเท่านั้นที่ได้รับการอนุญาตให้นำไปเก็บข้อมูลออกมาได้จ้า

ตามติด 1 วัน การทำงาน นักทัณฑวิทยา

9.30 - 11.30 น.

เมื่อแสงแดดยามสายเริ่มแรงขึ้น ก็ดูเหมือนว่าการทำงานของนักทัณฑวิทยาจะหนักหน่วงขึ้นตามอุณหภูมิที่ชวนเหงื่อตกกันแล้วล่ะค่ะ เพราะนี่เป็นเวลาที่แต่ละแดนจะต้องเรียกรวมผู้ต้องขังมาฝึกระเบียบวินัย ซึ่งพี่ณัฐจะเป็นคนเริ่มกิจกรรมนี้ด้วยการอบรมและให้โอวาทแก่ผู้ต้องขังด้วยน้ำที่เสียงเข้มแข็งแต่แฝงแง่คิดที่ให้กำลังใจ แล้วควบคุมการฝึกผู้ต้องขังที่มีท่าออกกำลังกาย สอนระเบียบแถวคล้ายทหาร ร่วมกับเจ้าหน้าที่คนอื่นๆ และผู้ช่วยฝึกหรือผู้ต้องขังที่ได้รับการประเมินแล้วว่ามีความประพฤติดี และมีความสามารถในการช่วยเหลืองานได้ค่ะ

ตามติด 1 วัน การทำงาน นักทัณฑวิทยา

12.30 - 14.30 น.

หลังจากที่ผู้คุมและผู้ต้องขังได้ใช้เวลาพักกลางวันทานอาหารและทำภารกิจส่วนตัวเรียบร้อย ก็จะต้องกลับมาเข้าคอร์สการฝึกแบบตอนเช้าอีกครั้ง แล้วมีการพูดคุยสรุปกิจกรรมว่าวันนี้เราทำอะไรกันไปบ้าง พรุ่งนี้จะต้องฝึกอะไรเพื่อให้ทราบโดยทั่วกัน ก่อนจะอนุญาตให้ผู้ต้องขังได้กลับเข้าแดนไปเตรียมทานอาหารเย็นและทำกิจวัตรส่วนตัว

ตามติด 1 วัน การทำงาน นักทัณฑวิทยา

แต่เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องแล้ว พี่ส้มต้องบอกให้น้องๆ ทราบก่อนว่าผู้ต้องขังทุกคนในเรือนจำไม่ได้ฝึกระเบียบเข้มเต็มเวลาแบบนี้ทุกคนจนถึงวันสุดท้ายที่ต้องโทษจำคุกนะคะ เพราะแต่ละคนจะได้รับโปรแกรมการฝึกหรืออบรมแบบเฉพาะตัวจาก 'การจำแนกลักษณะผู้ต้องขัง' และการจัดทำ 'แผนการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังรายบุคคล' ตั้งแต่สัปดาห์แรกที่เข้ามาในเรือนจำ และจะได้รับการประเมินเป็นระยะว่าควรได้รับการแก้ไขหรือฟื้นฟูด้วย วิธีไหน อย่างไร เวลาใดจึงจะเหมาะสม เช่น คนที่ทำงานช่างไม้ซึ่งต้องจับเลื่อยที่ใช้เป็นอาวุธได้ ก็ต้องผ่านการประเมินความประพฤติจนมั่นใจแล้วว่าเขาจะไม่ใช้โอกาสนี้หลบหนี หรือทำร้ายคนอื่น

ตามติด 1 วัน การทำงาน นักทัณฑวิทยา

14.30 - 16.00 น.

เพิ่งพูดเรื่องการจำแนกลักษณะผู้ต้องขังไปเมื่อกี๊ เราก็มาดูกันเลยค่ะว่าขั้นตอนนี้ต้องทำยังไงบ้าง? หลังจากที่ได้รับตัวผู้ต้องขังคนใหม่มาจากศาล เรือนจำจะต้องมีการเรียกประชุมทีมสหวิชาชีพ ประกอบด้วย นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ พยาบาล นักวิชาการอบรมและฝึกวิชาชีพ และนักทัณฑวิทยาอย่างพี่ณัฐที่เข้านั่งประจำที่เรียบร้อยแล้ว

ตามติด 1 วัน การทำงาน นักทัณฑวิทยา

โดยมีการเรียกตัวผู้ต้องขังมาสอบถามข้อมูลส่วนตัว ประวัติการศึกษา การกระทำความผิด แล้วเปิดโอกาสให้ผู้ต้องขังได้พูดว่าเขามีความสนใจ ความถนัดด้านไหน เช่น ด้านช่าง ด้านเทคโนโลยี หรืออยากเรียนหนังสือต่อมั้ย

ตามติด 1 วัน การทำงาน นักทัณฑวิทยา

ซึ่งหลังจากนั้นจะมีการประชุมสรุปพร้อมกับประเมินความเหมาะสมกับโทษที่ได้รับ เพื่อกำหนดการแผนปฏิบัติต่อผู้ต้องขังว่าเขาควรไปอยู่แดนไหน และได้รับกิจกรรมอบรมฟื้นฟูอะไรบ้าง เช่น จัดผู้ต้องขังที่มีกำหนดโทษใกล้เคียงกันไว้ด้วยกัน จัดนักโทษที่ยังเป็นวัยรุ่นสุขภาพแข็งแรงและมีกำลังไว้ที่แดนวัยหนุ่ม จัดตารางเวลาพร้อมหนังสือเรียนให้ หรือใครอยากฝึกอาชีพก็ไปอยู่แดนโรงงานช่างไม้ แดนโรงงานเบเกอร์รี่ (พูดเลยเวลาแค่เดินผ่านนอกประตูกลิ่นหอมเตะจมูกมากๆ)

ตามติด 1 วัน การทำงาน นักทัณฑวิทยา

ส่วนถ้าวันไหนไม่มีการจำแนกลักษณะผู้ต้องขังคนใหม่ พี่ณัฐก็มักจะได้รับบทเป็นวิทยากรในกิจกรรมอบรมผู้ต้องขัง หรือบางครั้งก็อบรมเจ้าหน้าที่ด้วยกันนี่แหละค่ะ สำหรับบ่ายวันนี้ โชคดีที่พี่ณัฐมีคิวบรรยายสั้นๆ ประมาณครึ่งชั่วโมง เกี่ยวกับการกลับไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ ให้แก่นักโทษคดียาเสพติดที่กำลังจะพ้นโทษออกไปด้วย เราเลยได้ภาพซึ้งๆ ติดมาเป็นกำไร ส่วนบรรยากาศน่ะเหรอคะ... พอจับไมค์เท่านั้นล่ะ น้ำเสียงนุ่มๆ แต่คติกินใจ ก็มาแบบตอนเช้าเลยค่าา 5555

ตามติด 1 วัน การทำงาน นักทัณฑวิทยา

16.00 - 16.30 น.

เห็นพี่ณัฐมีภารกิจรัดตัวทั้งวันแบบนี้ ก็ใช่ว่าจะไม่มีใครดูแลผู้ต้องขังอย่างทั่วถึงนะคะ เพราะเจ้าหน้าที่ในเรือนจำยังมีอีกหลายคน และทุกคนต่างยึดหลักความปลอดภัย 3 ประการยิ่งชีพ ได้แก่ เจ้าหน้าที่ต้องปลอดภัย ผู้ต้องขังต้องปลอดภัย และสังคมต้องปลอดภัยค่ะ เพราะเรือนจำถือเป็นเขตหวงห้ามเฉพาะ ต้องมีการผลัดเปลี่ยนเวรยามเฝ้าดูแลความปลอดภัย อยู่ทั้งกลางวันและกลางคืน มีการเดินตรวจตราทุกห้องขัง ทุกชั้น ทุกแดน และมีการตรวจสอบการสื่อสาร เอกสาร พัสดุ หรือแม้กระทั่งงดของเยี่ยมผู้ต้องขังที่อาจซุกซ่อนสิ่งแปลกปลอม แล้วเปลี่ยนมาเป็นระบบซื้อจากร้านของเรือนจำให้ ณ เวลาเยี่ยมกันเลยล่ะ

ตามติด 1 วัน การทำงาน นักทัณฑวิทยา

เน้นย้ำเรื่องความปลอดภัยมาซะขนาดนี้ แน่นอนว่าหน้าที่ช่วงสุดท้ายของ นักทัณฑวิทยาก่อนกลับบ้าน ก็คือ 'การเก็บขัง' ที่นักทัณฑวิทยาจะต้องนับยอดผู้ต้องขัง อย่างละเอียด แล้วเช็กความเรียบร้อยรายคนก่อนพาขึ้นไปพักในห้องขัง ที่ภายในมีการจัดเรียงที่นอนตามตำแหน่งของแต่ละคนไว้ตามแผนผังในขั้นที่ว่าสลับที่นอนหรือแบ่งผ้าห่มให้เพื่อนก็ไม่ได้เลยค่ะ

ตามติด 1 วัน การทำงาน นักทัณฑวิทยา

แต่เท่านี้ยังไม่พอน้าา น้องๆ คงเคยเห็นฉากผู้คุมนักโทษเอาตะบองรูดลูกกรงห้องขังกันในละครสร้างบรรยากาศน่าเกรงขามกันมาบ้างใช่มั้ยคะ ซึ่งพี่ณัฐก็โชว์เท่ได้ไม่แพ้กัน.. No!!! ใช่ซะที่ไหนล่ะ นี่คือวิธีเช็กความแข็งแรงของซี่ลูกกรงต่างหากจ้ะ เผื่อมันเกิดสึกหรอหรือมีใครแอบเลื่อยไว้จะได้แก้ไขสถานการณ์ทัน ป้องกันผู้ต้องขังแหกคุกออกไปได้ หลักการที่แท้จริงมันเป็นแบบนี้เด้อ เอาล่ะ! เรียบร้อยไม่มีปัญหาใดๆ แล้ว ก็เชิญผู้ต้องขังทุกคนเข้านอนประจำที่ ปิดประตูลงกลอนให้แน่นหนา เป็นอันเสร็จสิ้นหน้าที่หนึ่งวันของนักทัณฑวิทยาแล้วจ้า

ตามติด 1 วัน การทำงาน นักทัณฑวิทยา

ความจริงหลังแดนลูกกรง ที่ยังคงเป็นเรื่องเข้าใจผิด!

แม้เรือนจำจะเปรียบเสมือนโลกอีกหนึ่งใบที่วิถีชีวิตของผู้กระทำผิดในนั้นถูกจำกัดอิสรภาพซึ่งแตกต่างไปจากเรา แต่ใช่ว่านี่คือสถานที่ที่สร้างขึ้นมาทรมานพวกเขาให้สูญสิ้นความเป็นมนุษย์ไป เพราะที่นี่คือแหล่งฟื้นฟูคุณภาพชีวิตผู้ต้องขังเพื่อคืนคนดีสู่สังคมค่ะ ว่าแล้วก็ต้องขอเชิญนักทัณฑวิทยามาชี้แจงถึงเรื่องเข้าใจผิดต่างๆ ที่เขาร่ำลือกันสักหน่อย...

ตามติด 1 วัน การทำงาน นักทัณฑวิทยา

1. อาหารสกปรก รสชาติแย่ ??? :

"เรื่องแกงผักเน่ากับข้าวแดงเดี๋ยวนี้มันไม่มีแล้ว ข้าวแดงสมัยนี้กลายเป็นอาหารเทรนด์สุขภาพ ราคาสูงมาก ในการประกอบเลี้ยงคนจำนวนมากเลยต้องใช้ข้าวขาวแทน 5555 ส่วนคนที่เราคัดเลือกมาอยู่ฝ่ายสูทกรรม(ทำอาหาร)ก็ต้องมีการตรวจสุขภาพอยู่ตลอด เวลาทำอาหารก็ต้องสวมผ้ากันเปื้อน-หมวกคลุมผม และเมนูที่ทำทุกมื้อก็ต้องผ่านการคำนวณคุณค่าทางอาหารโดยนักโภชนาการมาก่อนด้วย พี่เคยชิมอยู่ก็อร่อยดีนะครับ"

ตามติด 1 วัน การทำงาน นักทัณฑวิทยา

2. ทุกคนต้องโดนละเมิดทางเพศเพื่อเป็นการรับน้อง ??? :

"เรามีการตรวจตราและรักษาความปลอดภัยให้แก่ผู้ต้องขังตลอดเวลา เพราะฉะนั้นปัญหาการทำร้ายร่างกายหรือล่วงละเมิดทางเพศกันนี่มีน้อยมากครับ แต่ถ้าเขาเข้ามาแล้ว เกิดถูกใจกัน จะมีความรักเราก็ไม่ได้ห้ามอยู่แล้ว"

ตามติด 1 วัน การทำงาน นักทัณฑวิทยา

3. เจ้าหน้าที่โหดเหี้ยมอำมหิต ??? :

"หลักการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ทุกคนคือควบคุมด้วยใจ แก้ไขด้วยเมตตา ซึ่งเราได้ยึดหลักนี้มาตลอด ควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ต้องขังอย่างจริงจัง ตั้งแต่ด้านสุขภาพร่างกาย และจิตใจ ด้านความสัมพันธ์ทางสังคม ด้านสภาพแวดล้อม เพื่อให้ผู้ต้องขังมีคุณภาพชีวิตที่ดีและอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาตนเองครับ"

ตามติด 1 วัน การทำงาน นักทัณฑวิทยา

จากใจคนในเรือนจำ และความทรงจำที่ดี

ถ้านับเวลารวมกันตั้งแต่พี่ณัฐได้บรรจุเข้ารับราชการเป็นนักทัณฑวิทยาจนถึงวันนี้ก็รวมเวลาได้ราว 7 ปีแล้วล่ะค่ะ ซึ่งเจ้าตัวก็ได้สละเวลาหลังเลิกงานเล่าเรื่องประทับใจเกี่ยวกับการอุทิศตนให้กับอาชีพนี้ให้ฟังด้วยว่า ความยากของงานนี้มันอยู่ตรงที่เราต้องแบกรับความเสี่ยงเพราะทำงานอยู่กับอาชญากรหรือผู้กระทำผิด อีกอย่างที่ต้องแบกไว้ก็คือความคาดหวังจากสังคมว่าถ้าใครออกจากคุกไปแล้วก็ต้องเป็นคนดี 100% ซึ่งพูดตรงๆ ว่ามันเป็นเรื่องยาก แต่เราก็ต้องพยายามทำให้ได้

ตามติด 1 วัน การทำงาน นักทัณฑวิทยา

ตั้งแต่ทำงานที่นี่มาก็มีเคสที่พี่ประทับใจอยู่นะ... เคยมีผู้ต้องขังคดีครอบครองยาอีที่ถูกตำรวจจับตอนกำลังเรียนมหา'ลัยอยู่ปี 3 ระหว่างที่อยู่ในเรือนจำอยู่พี่ก็คอยให้คำแนะนำ ให้กำลังใจเขาให้กลับไปเรียนให้จบ แล้วพอพ้นโทษไป ก็ไม่ได้เจอกันอีก แต่มีอยู่วันนึงพี่ไปเดินห้าง ปรากฏว่ามีคนเรียกพี่จากด้านหลัง พี่ก็หันไป ปรากฏว่าเป็นน้องคนนั้น เขาบอกพี่ว่าเขาได้ทำตามที่พี่บอก ตอนนี้เขาเรียนจบแล้ว กำลังจะไปทำงานที่เชียงใหม่ สำหรับพี่ นี่คือตัวอย่างที่ทำให้เราเห็นว่าผู้ต้องขังสามารถกลับมาพัฒนาตัวเองได้ ถ้าสังคมให้โอกาสเขาจริงๆ

ตามติด 1 วัน การทำงาน นักทัณฑวิทยา

สิ่งที่พี่อยากจะฝากเอาไว้ก็คือ คนในสังคมมัก 'ตีตรา' ผู้ต้องขังว่าเป็นคนไม่ดี ขี้คุกขี้ตะราง เป็นคนชั่วที่กระทำผิดโดยกมลสันดาน และยากที่จะกลับตัวกลับใจเป็นคนดีได้ ซึ่งจุดนี้เองแหละครับที่ทำให้พวกเขากลับสู่สังคมได้ยาก จนบางคนก็เข้าตาจนต้องกลับไปทำผิดซ้ำอีกตาม 'ตรา' ที่สังคมมอบให้ พี่เชื่อว่า สิ่งที่ดีที่สุดที่สังคมสามารถหยิบยื่นให้แก่ผู้ต้องขังได้ก็คือ 'โอกาส' โดยเฉพาะ 'โอกาส' ที่จะกลับมาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมอีกครั้งโดยไม่มี 'ตราบาป' และ 'โอกาส' ที่สังคมหยิบยื่นให้นี่เองที่จะช่วยให้พวกเขากลับมาเริ่มต้นชีวิตใหม่หลังพ้นโทษได้อย่างมีประสิทธิภาพและลดความเสี่ยงที่จะไปทำผิดซ้ำอีกครับ" พี่ณัฐกล่าวทิ้งท้าย

ตามติด 1 วัน การทำงาน นักทัณฑวิทยา
พี่ส้ม
พี่ส้ม - Columnist คนทำคอนเทนต์ออนไลน์ ที่เชื่อว่าใครก็เป็นเด็กดีได้ในสไตล์ของตัวเอง

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด